เมนู

ว่าโดยคัมภีรภาพ 4 อย่าง



อนึ่ง ในปิฎกทั้ง 3 นี้ แต่ละปิฎกพึงทราบคัมภีรภาพ (ความลึกซึ้ง)
4 อย่าง คือ โดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนา และโดยปฏิเวธ.
บรรดาคัมภีรภาพเหล่านั้น พระบาลี (ตนฺติ) ชื่อว่า ธรรม. เนื้อความ
แห่งพระบาลีนั้น ชื่อว่า อรรถ. การแสดงบาลีตามที่กำหนดไว้อย่างดีด้วยใจ
นั้น ชื่อว่า เทศนา. การตรัสรู้ตามความเป็นจริงซึ่งธรรมและอรรถแห่งบาลี
นั้น ชื่อว่า ปฏิเวธ. จริงอยู่ ธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ ในปิฎก
ทั้ง 3 นั้น ชื่อว่า ลึกซึ้ง เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาน้อยหยั่งลงได้ยาก
เป็นที่พึงอันบุคคลผู้มีปัญญาน้อยไม่พึงได้ เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันสัตว์
เล็กทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้นหยั่งให้ถึงได้โดยยาก ทั้งเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ฉะนั้น
บัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพแม้ทั้ง 4 อย่าง ในปิฎกทั้ง 3 นี้แต่ละปิฎก ด้วย
ประการฉะนี้.
อีกนัยหนึ่ง เหตุชื่อว่า ธรรม เหมือนที่ตรัสไว้ว่า ญาณในเหตุ ชื่อว่า
ธรรมปฏิสัมภิทา. ผลของเหตุ ชื่อว่า อรรถ เหมือนที่ตรัสไว้ว่า ญาณในผล
ของเหตุ ชื่อว่า อัตถปฎิสัมภิทา. บัญญัติ ท่านหมายเอาการกล่าวธรรมสมควร
แก่ธรรม ชื่อว่า เทศนา หรือว่าการกล่าวธรรมด้วยสามารถแห่งอนุโลม
ปฏิโลม สังเขป และพิสดารเป็นต้น ชื่อว่า เทศนา. การตรัสรู้ ชื่อว่า ปฏิเวธ.
ก็ปฏิเวธ นั้น เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ. อธิบายว่า การหยั่งรู้ในธรรม
ทั้งหลายสมควรแก่อรรถ ในอรรถทั้งหลายสมควรแก่ธรรม ในบัญญัติทั้งหลาย
สมควรแก่คลองแห่งบัญญัติ โดยวิสัย (อารมณ์) โดยอสัมโมหะ (ความไม่
หลงลืม) หรือว่า ความที่ธรรมเหล่านั้น ๆ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในที่
นั้น ๆ เป็นธรรมไม่วิปริตเป็นไปกับด้วยลักษณะ อันพึงแทงตลอดได้.

บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพแม้ทั้ง 4 อย่าง ในปิฎกทั้ง 3 เหล่านี้
และปิฎกทีเดียว เพราะในปิฎกเหล่านั้น ธรรมหรืออรรถใดๆ หรือเทศนาซึ่ง
ส่องเนื้อความนั้น ๆ โดยประการที่ควรรู้เนื้อความซึ่งตรงต่อญาณของผู้ฟังโดย
ประการนั้น ๆ ก็หรือว่า การแทงตลอด กล่าวคือการหยั่งลงสู่ธรรมอันไม่วิปริต
ในปิฎกทั้ง 3 เหล่านั้นอันใด หรือความที่ธรรมเหล่านั้น ๆ ซึ่งมีสภาพไม่วิปริต
กล่าวคือกำหนดได้อันพึงแทงตลอด ธรรมทั้งหมดนั้น คนมีปัญญาน้อยไม่
สร้างกุศลสมภารไว้หยั่งลงได้โดยยาก ทั้งจะเป็นที่พึงก็ไม่ได้เปรียบเหมือน
มหาสมุทร สัตว์เล็กมีกระต่ายเป็นต้น หยั่งให้ถึงได้ยาก ทั้งจะเป็นที่พึ่งไม่
ได้ฉะนั้น.
ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ย่อมเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวถึงเนื้อความคาถา
นี้ว่า
บัณฑิตพึงแสดงประเภทเทศนา
ศาสนะ กถา สิกขา ปหานะ และคัมภีรภาพ
ในปิฎกทั้ง 3 เหล่านี้ ตามสมควร ด้วย
ประการฉะนี้.

แต่ในคาถานี้ว่า
ภิกษุย่อมบรรลุประเภทปริยัติ สมบัติ
และแม้วิบัติอันใด ในปิฎกใด โดยประการ
ใด พึงเจริญเนื้อความแม้นั้นทั้งหมด โดย
ประการนั้น ดังนี้.

บัณฑิตพึงเห็นความแตกต่างกันแห่งปริยัติ 3 อย่างในพระไตรปิฎก
ทั้ง 3 ดังต่อไปนี้.

ว่าด้วยปริยัติ 3 ประเภท



จริงอยู่ ปริยัติมี 3 ประเภท คือ
1. อลคัททูปมปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยอสรพิษร้าย)
2. นิสสรณัตถปริยัติ (ปริยัติเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก)
3. ภัณฑาคาริกปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง).
บรรดาปริยัติเหล่านั้น ปริยัติที่ถือเอาไม่ดี คือเรียนเพื่อเหตุแห่งการ
โต้แย้งเป็นต้น ชื่อว่า อลคัททูปมปริยัติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอา
ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการอสรพิษมีพิษร้าย ย่อม
แสวงหาอสรพิษมีพิษร้าย เมื่อเที่ยวแสวงหาอสรพิษมีพิษร้าย เขาเห็นอสรพิษมี
พิษร้ายด้วยใหญ่ ก็พึงจับอสรพิษนี้นั้น ที่ขนดหรือที่หาง อสรพิษนั้นพึงแว้งขบ
เอาที่มือ หรือแขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษ
นั้นพึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย เพราะการขบกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้น
เพราะเหตุแห่งอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อสรพิษร้ายอันบุรุษ
จับแล้วไม่ดี แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตะ ฯลฯ เวทัลละ บุรุษ
เหล่านั้นครั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา เมื่อโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่ใคร่ครวญอรรถด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น
ย่อมไม่ทนต่อการเพ่ง โมฆบุรุษเหล่านั้น มีการโต้แย้งเป็นอานิสงส์ และมีการ
ยังตน ให้พ้นจากวาทะนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ ย่อมเรียนธรรม และย่อมเรียนธรรม
เพื่อประโยชน์แก่ธรรมใด ย่อมไม่เสวยผลแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอัน
โมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนแล้วไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ